วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง คือ ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนาไทย โดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย
งานประเพณีจะมีสามวันคือ

  •                      วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ วันดา เป็นวันซื้อของเตรียมไปทำบุญที่วัด
  •                      วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน
  •                     วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ

ในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา และมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะตี๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


                ประเพณียี่เป็งเป็นงานประเพณี อันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา ที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล "ยี่เป็ง" หรือวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง อันเป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว อากาศปลอดโปร่งท้องฟ้าแจ่มใส ธรรมเนียมปฎิบัติของชาวล้านนาอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการลอยกระทงในแม่น้ำก็คือ การจุดประทีปโคมลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า โดยมีคติความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬ ามณี บนสรวงสวรรค์ หรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ หรือสะเดาะเคราะห์ ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต
"ประเพณีนี่เป็ง" คือ ประเพณีในเทศกาลวันเพ็ญ  เดือน  ๑๒ ซึ่งแต่เดิมนั้นพิธีสำคัญของเทศกาลนี้อยู่ที่พิธีกรรมตั้งธรรมหลวงหรือฟังเทศน์มหาชาติ  ชาวบ้านจะมีการประดับประดาวัดวาอารามบ้านเรือน ด้วยประทีปโคมไฟ โคมระย้า ทำอุบะดอกไม้ไปถวายวัด ทำซุ้มประตูป่าด้วยต้นกล้วย อ้อยก้านมะพร้าว เตรียมข้าวปลาอาหารเป็นพิเศษ เช่น ห่อนึ่ง แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ และขนมต่าง ๆ ไปทำบุญ บางแห่งมีพิธีกวนข้าวมธุปายาสหรือบ้างเรียก ข้าวพระเจ้าหลวง ถวายเป็นพุทธบูชาในตอนเช้ามืดของวันเพ็ญเดือน  ๑๒  นี้ด้วย จากนั้นก็จะมีการทานขันข้าวหรือสำรับอาหารไปถึงบรรพชนคนตาย ถวายอาหารและกัณฑ์เทศน์แด่พระภิกษุสงฆ์ และมีการฟังธรรมมหาชาติตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน บางแห่งก็จะมีการสืบชะตาด้วย   จะมีการปล่อยโคมลอย  เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ในช่วงพลบค่ำจะมีการเทศน์ธรรมชื่อ  "อานิสงส์ผางประทีส" และชาวบ้านจะมีการจุดประทีสหรือประทีป โคมหูกระต่าย โคมแขวน  เป็นพุทธบูชากันทุกครัวเรือนสว่างไสว หนุ่มสาวก็จะมีการเล่นบอกไฟ แข่งขันบอกไฟ และปล่อยว่าวไฟ
คำว่า โคมลอยนี้แปลได้ง่ายๆ ว่าเครื่องใช้ที่ให้กำเนิดแสงสว่างลอยตัวอยู่ ซึ่งโคมที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ อาจลอยอยู่ได้ทั้งในน้ำและในท้องฟ้าก็ได้ทั้งสองกรณี แต่ในที่นี้จะเริ่มกล่าวถึงโคมลอยที่ลอยอยู่ในน้ำหรือลอยไปตามสายน้ำเสียก่อน          

 โคมลอย นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลลอยกระทง เมื่อต้องการทราบความหมายของคำนี้ให้เป็นที่แน่นอนชัดเจนลงไป ก็ต้องไปดูจากต้นตำรับที่ว่าด้วยการลอยกระทง ซึ่งก็คือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ และจากเอกสารชื่อนี้ฉบับที่กรมศิลปากร อนุญาตให้ศิลปาบรรณาคารพิมพ์จำหน่ายครั้งที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ หน้า ๙๖ บอกว่าในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นจะมีพระราชพิธีจองเปรียง ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคมที่มีการเฉลิมฉลองกันถึงสามวัน ครั้งหนึ่ง นางนพมาศได้ประดิษฐ์โคมลอยเป็น “…รูปดอกกระมุท(ดอกบัว) บานกลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ(กงเกวียน) …“ และประดับด้วยดอกไม้และผลไม้สลักเป็นรูปนกจับอยู่ตามกลีบดอกบัว ซึ่ง พระร่วงก็พอพระทัยมาก “… จึ่งมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทบานก็ปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป… “ (น.๙๙๑๐๐)
 

จากความที่ยกมานี้สรุปได้ว่า โคมลอย ก็คือกระทงทรงประทีป หรือกระทงที่รองรับประทีปซึ่งจุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ เมื่อดูจาก พระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่สิบสาม พ.ศ. ๒๕๑๔ ในตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงระบุว่าพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมณเทียรบาลว่า พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมนั้น “… มีความแปลกออกไปนิดเดียวแต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม และเติม ลงน้ำเข้าอีกคำหนึ่ง การก็ตรงกันกับลอยกระทง ลางทีจะสมมติว่าลอยโคม …” (น.๘) และทรงกล่าวต่อไปว่า “.. การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพ และบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่า นะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่..” (น.๙)
 
ในพระราชพิธี๑๒ เดือนยังระบุต่อไปว่าในเดือนสิบสองนี้มีการลอยพระประทีปด้วย โดยทรง อธิบายว่า “… การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรนับได้ว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ..”(น.๒๒)

และความในพระราชนิพนธ์ช่วงนี้ยังมีพระราชาธิบายที่ยืนยันถึงข้อความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า “…การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้ากับเรื่องนางนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นท้าวพระสนมเอกแต่ครั้งพระเจ้าอรุณราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสอง เป็นเวลาเสด็จประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้มารับราชการจึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหลมีข้อความที่พิศดารยืดยาว เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคำขุนหลวงหาวัดซึ่งได้กล่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าหรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเอง…” (น๒๒๒๓)
 
 
จากความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์และพระราชพิธีสิบสองเดือนที่กล่าวมานี้ อาจสรุปได้ว่า โคมลอยของนางนพมาศนั้นคือกระทงที่รองรับประทีป การที่นำโคมลอยที่ว่านี้ไปลอยน้ำก็เรียกว่า ลอยโคมดังในพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกว่า ลอยพระประทีปและการลอยพระประทีปหรือลอยกระทงนี้อย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ที่น่าสังเกตก็คือพระราชาธิบายที่ว่า การลอยกระทงนี้ “… แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว…”
และเมื่อพิเคราะห์ดูความจากบทพระราชนิพนธ์ในตอนที่กล่าวถึงเทียนที่จุดในพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงกล่าวว่า “…แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียว คือตั้งแต่เริ่มพระราชพิธี พราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวันลดโคม เทียนซึ่งจุดในโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโคซึ่งพราหมณ์นำมาถวายทรงทา การที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อพระโคนี้ก็เป็นลัทธิพราหมณ์แท้ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆ พระราชพิธี …” (น.๙)
 
ส่วนขนาดของกระทงนั้น นอกเหนือจากกระทงของนางนพมาศที่ใหญ่เท่ากงระแทะคือกงเกวียน แล้ว ในพระราชพิธี ๑๒ เดือนให้คำอธิบายสรุปรวมได้ว่ากระทงหลวงซึ่งสำหรับทรงลอยที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆ ในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทงหลวงสำรับใหญ่ที่ทำถวายนั้น “…ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอก ทำประกวดประขันกันต่างๆ …(น.๒๙) ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ขนาดใหญ่ที่ลอยน้ำได้ และในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นมีการใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและเรือชัยแทนกระทงใหญ่สองลำ ตั้งเทียนขนาดใหญ่และยาวตามกระทงเรือทุกกระทง ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีการใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แทนเรือชัย และยังมีกระทงขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างอลังการอีกด้วย แต่ก็ไม่โปรดให้จัดทำทุกปี
 
ส่วนการลอยพระประทีปนั้นเห็นได้ว่ามีถึงปีละ ๒ ครั้ง โดยมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “… จะขอว่าแต่กรุงเทพฯนี้ การลอยประทีปเดือน ๑๒ เป็นการใหญ่กว่าลอยประทีปในเดือน ๑๑ ด้วยอากาศปราศจากฝน…”(น.๒๔) และ “… พิธีลอยพระประทีปกลางเดือน ๑๑ ก็เหมือนกับลอยพระประทีปในเดือน ๑๒ ซึ่งมีข้อความพิศดารแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์พิธีประจำเดือน ๑๒ ผิดกันแต่เดือน ๑๑ ไม่มีกระทงใหญ่…” (น.๖๓๙) น่าสังเกตว่าในพระราชพิธี ๑๒ เดือน นี้ ทรงจำแนกว่าประทีปและกระทงเป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับทรงลอยที่ต่างกัน โดยที่กระทงที่ทรงกล่าวถึงนั้นมีขนาดใหญ่มาก แต่เสียดายที่ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าวไม่ได้บอกขนาดของพระประทีปที่ทรงลอยไว้ด้วย คาดว่าพระประทีปที่ทรงลอยน่าจะมิได้มีขนาดใหญ่โตเหมือนกระทง แต่อาจจะมีขนาดใกล้เคียงกับกระทงของนางนพมาศก็ได้
 
เมื่อยกเอาความทุกส่วนที่กล่าวแล้วมารวมกันเพื่อสรุป ก็จะเห็นได้ว่า การลอยโคมหรือลอยกระทงซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วนี้ เป็นประเพณีที่มิใช่ทั้งพิธีพราหมณ์หรือพิธีในพุทธศาสนา แต่การลอยกระทงซึ่งเป็นการลอยโคมอันเป็นเครื่องสักการะเพื่อให้ไปบูชารอยพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ที่ริมฝั่งน้ำนมทานทีดังกล่าว เป็นคติที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้เอง แต่ความที่ยังคงค้างใจก็คือประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปว่าโคมลอยหมายถึงประทีปที่จุดไฟแล้ววางบนกระทงและปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีโคมลอยที่มีลักษณะเป็นลูกโป่งขนาดใหญ่ทำด้วยกระดาษบางเบาที่ปล่อยให้ลอยไปบนฟากฟ้านั้น คืออะไรกันแน่


คำอธิบายที่เก่าที่สุดที่กล่าวถึง โคมลอยในแง่โคมที่ลอยฟ้านั้น พบใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ Dictionary of the Siamese Language by Dr.B.Bradley Bangkok 1873 หรือพจนานุกรมภาษาสยามที่ ดร.แดน บีช แบรดเลย์ จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ โดยกล่าวว่า โคม, คือประทีปเครื่องสำหรับจุดไฟในนั้นให้แสงสว่าง,ทำด้วยแก้วบ้าง, ทำด้วยเกล็ดปลาบ้าง.และ โคมลอย, คือประทีปเครื่องสำหรับจุดไฟในนั้นให้สว่าง, แล้วควันไฟก็กลุ้มอบอยู่ในนั้น, ภาโคมให้ลอยขึ้นไปได้,บนอากาษ.”(น.๑๐๕) คำอธิบายดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ว่า โคมลอย น. ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดไฟแล้วปล่อยให้ ลอยไปในอากาศ.และพจนานุกรมฉบับนี้ได้ให้ความหมายของเครื่องใช้อีกอย่างหนึ่งว่า ตะเกียง น. เครื่องใช้สำหรับตามไฟ มีรูปต่างๆ บางชนิดมีหลอดบังลม, ลักษณะนามว่า ดวงโดยคำอธิบายของพจนานุกรมทั้งสองฉบับนี้ ชวนให้เข้าใจว่า โคมลอยควรจะให้ความสว่างได้ด้วย



ส่วนในพระราชพิธี ๑๒ เดือนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๓๑ นั้น มีข้อความส่วนที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายศัพท์แผลงว่าโคมลอยมีความหมายเดียวกับ โพยมยานและโพยมยานแปลมาจาก air ship คือยานที่ลอยไปในอากาศได้โดยใช้อากาศร้อนหรือแก๊สที่เบากว่าอากาศยกเอายานนั้นลอยไปได้ แต่เมื่อเทียบกับคำแปลของหมอแบรดเลย์แล้ว โพยมยานในที่นี้น่าจะหมายถึง balloon มากกว่า ยิ่งในคำอธิบายในหน้า ๖๔๓ ที่ว่า โคมลอยในที่นี้ “…มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษที่ชื่อว่า ฟัน (Fun-ผู้เขียน) ที่ใช้รูปโคมลอยอยู่หลังใบปก หนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ตลกอย่างอื่น คือ ปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขัน จึงว่าราวกับหนังสือพิมพ์ฟัน บ้างว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้างจะพูดให้สั้นจึงคงไว้แต่โคม”…” จากประเด็นดังกล่าวนี้ โคมลอยตามนัยของพระราชพิธี ๑๒ เดือน กับนัยของหนังสืออักขราภิธานศรัพท์แม้จะดูเหมือนว่าไม่ตรงกัน แต่ก็พอจะอธิบายให้เห็นได้ว่าเป็นวัตถุทรงกลมที่อาศัยความร้อนที่กักไว้ภายในพยุงให้ลอยไปในอากาศได้
 ก็เป็นอันว่า โคมลอยของนางนพมาศนั้นลอยน้ำ แต่โคมลอยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และของหมอแบรดเลย์นั้น ลอยฟ้า พอบอกว่า โคมลอยนั้นลอยฟ้าได้ ชาวล้านนาก็บอกว่าแม่นแล้วเพราะในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นนอกเหนือจะมีการตั้งธัมม์หลวงแล้ว บุคคลที่เกิดในปีจอ ซึ่งควรจะไปนมัสการพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีซึ่งบรรจุมวยผมของเจ้าชายสิทธัตถะที่เชือดออกด้วยพระขรรค์แล้วดำรงเพศนักบวชก่อนจะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า แม้อยากไปก็ไปไม่ได้ เพราะพระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชาวล้านนาที่เกิดในปีจอก็อาศัย โคมลอยนี้แหละที่ยกเอากระบะเครื่องบูชาลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าไปให้สูงที่สุดเพื่อจะบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ กิจกรรมดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพระบรมราชาธิบายที่ว่า “…การยกโคมขึ้นนั้น ตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าทรงบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพและบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายที่เรียกว่านะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่…”(พระราชพิธี ๑๒ เดือน น.๙)
 
แต่พอพูดว่าสิ่งประดิษฐ์ที่พาเอากระบะเครื่องบูชาขึ้นฟ้าไปนั้นชื่อว่าโคมลอยบรรดาผู้  เฒ่าทั้งหลายก็ไม่ค่อยพอใจนัก เพราะสิ่งนั้นในยุคของท่านเรียกว่า ว่าว, ว่าวลม, ว่าวรม/ฮม หรือว่าวฅวัน โดยอธิบายว่าเครื่องเล่นที่ปล่อยให้ลอยในอากาศนั้นเรียกว่า ว่าวเมื่อว่าวนั้นใช้ควันเป็นเครื่องช่วยพยุงขึ้นฟ้า ก็เรียกว่าวนั้นว่า ว่าวฅวัน และในกลางคืนที่ใช้ก้อนเชื้อเพลิงแขวนไว้ที่ปากของว่าว ความร้อนจากไฟที่จุดนั้น นอกจากจะยกว่าวให้ลอยฟ้าได้แล้ว ยังมองเห็นไฟที่ลุกและลอยไปในท้องฟ้าแทรกกับกลุ่มดาวได้ ท่านเรียกของท่านว่า ว่าวไฟ พอเห็นเด็กน้อยหนุ่มสาวเรียกสิ่งประดิษฐ์ของท่านว่า โคมลอยท่านก็บอกว่าไม่ใช่ ครั้นถามผู้เฒ่าว่าชาวล้านนาเรียกว่าวของท่านว่าเป็นโคมลอยมาแต่เมื่อใด ท่านก็ตอบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารไทยมาประจำการในล้านนา พอเห็นว่าวฅวันลอยขึ้นฟ้า ก็เรียกว่าสิ่งนั้นคือ โคมลอยเมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจสรุปได้ว่า โคมลอยของภาคกลางนั้นทำได้ทั้งลอยฟ้าและลอยน้ำ โดยจุดประทีปโคมไฟให้ลอยไปตามน้ำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทในนาคพิภพ และยกโคมขึ้นให้สูงเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี
 
แล้วชาวล้านนาเล่า มีการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำเพื่อไปบูชาพระพุทธบาทหรือไม่ ผู้เฒ่าก็จะถามว่าลอยประทีปโคมไฟเมื่อใด พอบอกว่าวันเพ็ญเดือนยี่ ท่านก็บอกว่าในวันเพ็ญเดือนยี่นั้นชาวบ้านจะปล่อยว่าวฅวันขึ้นฟ้าในตอนสาย และจุดประทีปโคมไฟตามบ้านเรือนดังที่ปรากฏว่ามีคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีปบอกถึงผลที่ผู้กระทำจะได้รับจากกการจุดประทีปโคมไฟดังกล่าว และการจุดประทีปโคมไฟนี้ก็สอดคล้องกับการ เผาเทียนเล่นไฟในกรุงสุโขทัยอีกด้วย ไม่มีธรรมเนียมการลอยกระทงหรือการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำ และผู้เฒ่าจะสำทับว่าพิธีกรรมทั้งหลายของชาวล้านนานั้นจะหันหน้าเข้าวัด ถ้าหันหน้าออกจากวัดไปทำกิจกรรมยังที่อื่นแล้ว พิธีกรรมดังกล่าว นั้นไม่ใปรากฏในวิถีของล้านนา



ครั้นถามว่าแล้ว ลอยกระทงเริ่มมาแต่เมื่อใด ท่านผู้เฒ่าที่คุ้นเคยกับชีวิตในคุ้มในวัง โดยเฉพาะวังท่าเจดีย์กิ่วซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีนั้น เป็นวังที่อยู่ใกล้กับลำน้ำปิง(ปัจจุบันคือสถานกงสุลอเมริกัน) พระราชชายาพระองค์นี้เป็นพระราชชายาซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าพระมเหสีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โดยที่พระองค์ท่านเข้ารับราชการในพระบรมมหาราชวังเมื่อชนมายุ ๑๓ ชันษา (พ.ศ.๒๔๒๙)และประทับอยู่ในวังหลวง หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ แล้วพระราชชายาฯก็เสด็จมาประทับอยู่ใน ฅุ้มหรือวังท่าเจดีย์กิ่วดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมโดยเฉพาะพระราชพิธีต่างๆ เป็นอย่างดี ดังนั้นพระองค์ท่านจึงได้เริ่มการ ลอยพระประทีปในลำน้ำปิง ในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐๒๔๗๐ แต่พระประทีปนอกวังหลวงนี้ทำขึ้นอย่างง่ายๆ จากวัสดุในธรรมชาติ

คือพระองค์ท่านใช้ชิ้นกาบมะพร้าวกว้างขนาดฝ่ามือตัดโค้งงอนตามสัณฐานของมะพร้าวเพื่อทำหน้าที่เป็นกระทงวางประทีปลงบนกระทงนั้นแล้วจุดไฟและปล่อยให้ลอยไปในคืนวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา (ตรงกับเพ็ญเดือน ๑๒ ของภาคกลาง) สิ่งที่ลอยไปตามสายน้ำนั้นจึงจัดได้ว่าเป็นการลอยพระประทีปอย่างง่ายๆ อันจำลองมาจากการลอยพระประทีปและกิจกรรมนี้ก็สอดคล้องกับลอยโคมหรือ ลอยกระทงทรงประทีปของนางนพมาศอีกด้วย
 
ภายหลังก็มีผู้นิยมลอยกระทงตามพระราชชายาฯ มากขึ้น ดังพบว่าในครั้งที่นายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ.๒๔๙๐ นั้น ก็ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยจัดให้มีการลอยกระทงมากขึ้น และมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพ โดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน การลอยกระทงแบบกรุงเทพฯนั้นมีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ โดยเริ่มจัดให้มีการลอยกระทงสองวัน คือในวันเพ็ญเดือนยี่ จะลอยกระทงเล็ก และรุ่งขึ้นในคืนแรมหนึ่งค่ำจะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปสิ้นสุดที่สะพานนวรัฐ และหลังจากนั้นก็มีการลอยกระทงกันอย่างกว้างขวาง ดังที่จะพบว่ามีการประกวดนางนพมาศกันทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ยังมีการทำ ประตูป่าอันเนื่องกับการ ตั้งธัมม์หลวงอยู่เหมือนกัน แต่ยิ่งมีแสงสีที่กระทงกับประตูป่าและประทีปโคมไฟที่ประดับตามบ้านเรือนถนนหนทาง มีความงามที่ทรงเสน่ห์ของสาวน้อยนางนพมาศมากขึ้น และมีแสงสีจากว่าวไฟที่ลอยฟ้าเจิดจรัสมากขึ้นเท่าใด ความเข้มของวัฒนธรรมใหม่นี้ย่อมมีส่วนขับให้บรรยากาศของการตั้งธัมม์หลวงและกิจกรรมตามวิถีของล้านนาดั้งเดิมให้โรยแรงลงเพียงนั้น






ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%87
http://www.moohin.com/trips/chiangmai/yeepang/
http://www.youtube.com/watch?v=kBK0dBXxW7Q&feature=player_embedded

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น