วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พิธีกรรม-ความเชื่อ

พิธีกรรม-ความเชื่อ
ประเพณีเดือนยี่เป็ง มาถึงพอเริ่มขึ้น 1 ค่ำ เดือนยี่ วัดวาอารามจะจัดเตรียมสถานที่ในวัด ปัดกวาดพระวิหารศาลาให้สะอาด และจัดเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้
1.ทำราชวัตร รอบวิหาร เจดีย์ ทำซุ้มประตูป่าทางเข้าวัด
2.ทำโคมแขวน โคมค้าง โคมรูปต่างๆ
3.ทำว่าว หรือโคมลอย ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ โคมที่ใช้ปล่อยตอนกลางวัน เรียกว่า ว่าว โดยใช้วิธีรมควัน และโคมปล่อยตอนกลางคืน ใช้วิธีรมควันเหมือนว่าวที่ปล่อยกลางวัน แต่จะจุดไฟที่ท่อนผ้าผูกติดกับปากโคมลอยปล่อยสู่อากาศ โคมจะลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ คล้ายดาวเคลื่อนคล้อยในเวหา และ 4.การทำบอกไฟ (บั้งไฟ) ประกอบด้วยบอกไฟหลายชนิด เช่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟเทียน บอกไฟช้างร้อง บอกไฟจักจั่น บอกไฟท้องตั๋น บอกไฟขี้หนู ทำขึ้นเพื่อจุดในวันยี่เป็ง



มีคัมภีร์ที่กล่าวถึงการทำโคมลอย ทำว่าวไว้ด้วยว่า หากคนใดทำจะมีอานิสงส์ 1 กากณึก (ทรัพย์มีค่าเท่าค่าแห่งชิ้นเนื้อพอกานำไปได้ เป็นชื่อมาตราเงินต่ำที่สุด) การปล่อยโคมลอย ว่าว จุดบอกไฟนั้น เป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกประการหนึ่งด้วย
สำหรับชาวบ้านชาวเมืองจะจัดเตรียมสิ่งของ ดังนี้ 1.เครื่องนุ่งหย้อง เพื่อจะไปวัดในเดือนยี่เป็ง 2.เตรียมโคมทำราวแขวนโคม เพื่อประดับบูชาหน้าบ้านเรือนตน 3.เตรียมผางผะดิ้ด (ถ้วยประทีป) ไว้เท่าอายุของคนที่อยู่ในเรือนนั้น 4.เตรียมกัณฑ์ธรรม หรือกัณฑ์เทศน์สำหรับจะนำไปถวายพระตอนฟังเทศน์ 5.เตรียมบุปผาลาจาข้าวตอกดอกไม้เพื่อใช้โปรยเวลามีงานในการฟังเทศน์มหาชาติ และใส่ขันแก้วตึงสาม 6.เตรียมอาหาร ผลไม้ ขนม สำหรับพระภิกษุสงฆ์ จัดเตรียมในวันขึ้น 15 ค่ำ ตอนเช้าตรู่ และ 7.ทำซุ้มประตูป่าแบบต่างๆ ให้เป็นที่สวยงาม ประกอบด้วย ต้นกล้วย ต้นอ้อย ก้านมะพร้าว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกรัก นำมาประดิษฐ์เป็นอุบะห้อยประตูป่า
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่เป็ง ประมาณ 06.00 น. เช้ามืด ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารไปถวายพระภิกษุสงฆ์ ที่วัดเรียกว่า ตานขันข้าว เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
  • ตอนสายชาวบ้านจะไปที่วัดเพื่อฟังเทศนาธรรม วัดบางแห่งมักจะมีการตั้งธรรมหลวง เรียกว่า เทศน์ธรรมมหาจาติแบบพื้นเมือง จะมีการเทศน์ทั้งหมด 13 กัณฑ์ ให้เสร็จภายในวันเดียว
  • ตอนเช้าลู่ค่ำ ชาวบ้านชาวเมืองจะพากันไปสู่ที่วัด เพื่อนำผางปะดิ้ดไปจุดบูชาพระเจ้าที่วัด จุดโคมบูชาสว่างไสวทั่วพระอาราม หลังจากจุดธูปเทียนบูชาแล้ว จะมีการจุดบอกไฟ (ดอกไม้ไฟ) ประเภทต่างๆ ภายในวัด โดยจุดเป็นพุทธบูชา ส่วนผู้เฒ่า ผู้แก่จะกลับไปบ้าน เพื่อจุดผางปะดิ้ดที่บ้าน บูชาพระพุทธเจ้า บูชาเจ้าที่เจ้าทาง บูชาบ่อน้ำ บูชาประตูบ้าน บูชาครัวไฟ ประตูยุ้งฉาง เทวดาประจำบ้าน





วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โคมลอย

ลักษณะของโคมล้านนา
ลักษณะของโคมล้านนา มีอยู่ 3 ลักษณะ
1.โคมถือ แบ่งได้ 2แบบ คือ
1.1 โคมดอกบัว รูปแบบเหมือนดอกบัวตูมใช้สำหรับพระ หรือตั้งพระพุทธรูป

1.2 โคมหูกระต่าย 

(อ่าน โกมหูกระต่าย) หมายถึง พรหมวิหารสี่ จะใช้ถือเดินในขบวนแห่ จากนั้นไปประดับบริเวณรอบโบสถ์ หรือสถานที่ๆมีพิธีการ หรือบริเวณหน้าบ้าน โคมหูกระต่ายมี 4 ด้าน ซึ่งเปรียบกับ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นโคมที่ใช้ประดับในเทศกาลยี่เป็ง (วันลอยกระทง) หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง สามารถแยกได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ให้แสงสว่างและส่วนที่เป็นเรือนโคม ส่วนที่ให้แสงสว่างนั้นมักใช้ประทีปมากกว่าตะเกียง และในระยะหลังนิยมใช้ไฟฟ้าแทนประทีป
โคมหูกระต่ายมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร เจาะรูทั้งสี่มุม ใช้ไม้ไผ่เหลาขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตรปักลงในรูนั้น ทำเป็นปีกขึ้นไปโดยตัดขอบบนให้โค้งและสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ด้านบนให้กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร จะได้เรือนโคมลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมีปลายบานออกจากกัน ใช้กระดาษว่าวหรือกระดาษแก้วสีต่างๆปิดทับทั้งสี่ด้านของเรือนโคมและเปิด ช่องด้านบนเมื่อใช้งานก็วางประทีป หรือเทียนที่จุดไฟลงกลางเรือนโคม
ส่วน ฐานของโคมหูกระต่ายนั้น อาจทำด้วยกาบกล้วยชิ้นจากลำต้นมะละกอหรือแผ่นไม้ ก็ได้ และอาจใช้วางประดับอยู่กับที่หรืออาจทำให้ถือไปได้นั้นฐานของเรือนโคมอาจทำ ด้วยไม้สักเจาะรูตรงกลางสำหรับใส่ด้ามถือ ซึ่งมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร

2. โคมแขวน หรือ โคมค้าง คือโคมที่จะต้องติดหรือแขวนไว้บนค้าหรือที่สูงๆดวงโคมที่นำมาติดตั้งบนค้าง นี้ มักทำโครงด้วยไม้ไผ่ปะด้วยกระดาษ เป็นโคมทรงกลมหักมุมที่เรียกว่าโคมรังมดส้ม มีประทีปหรือเทียนจุดให้สว่าง ทั้งนี้อาจทำเป็นรูปอื่น อาทิเช่น รูปหมี รูปไก่ รูปนกยูง รูปดาวห้าแฉก รูปเครื่องบิน รูปจรวด ก็อาจทำได้ตมที่เห็นว่างาม และอาจยังต้องใช้โคมญี่ปุ่นหรือจีนมาทำโคมค้างก็ได้ มีดังนี้

2.1 โคมเพชร หรือโคมไห หรือโคมดิ่ง เป็นโคมที่พัฒนามาจากโคมรังมดส้ม หรือโคมเสมาธรรมจักรนั่นเอง โคมเพชรเรียกชื่อตามลักษณะของรูปทรงที่มีลักษณะเหมือนของจริงวัสดุที่ใช้ใน การประดิษฐ์ไม่แตกต่างจากโคมอื่นๆเลย

2.2 โมดาว เป็นโคมที่ประยุกต์ขึ้นมาใหม่จากโคมดั้งเดิมแต่ยังคงใช้วัสดุ และวิธีการเดิม แต่ดัดแปลงในรูปแบบของโครงสร้างการขึ้นโครงของตัวโมเท่านั้นที่ต้องหักไม้ ไผ่เป็นแฉก 5 แฉกคล้ายรูปดาว ส่วนลวดลายประดับบนตัวโคมคงใช้ลายที่แตกต่างจากโคมอื่น นั้นคือ ลายแก้วชิงดวง เป็นลวดลายที่คงเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนา
2.3 โคมทรงกระบอก แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- โคมงวงช้าง ซึ่งยาวกว่า และใช้จุดบูชาหน้าพระประทาน
-โคมกระบอก
2.4 โคมแปดเหลี่ยม หรือ โคมธรรมจักร มีแปดด้าน หมายถึง มรรคมีองค์แปด
2.5 โคมเจียรนัย หรือ โคมเดี่ยว
2.6 โคมผัด (หมุน) โดยใช้ความร้อนจากควันเทียนทำให้หมุน มีสองชั้นด้วยกัน ชั้นในจะมีแกนฝนเป็นลักษณะเข็มวางไว้ และจะมีลวดลายต่างๆเวลาหมุนเงาลวดลายจะปรากฏที่ชั้นนอก ส่วนมากโคมผัดจะตั้งไว้ที่วัดและเคลื่อนย้ายไม่ได้ โคมผัดเป็นโคมที่หมุนได้ ซึ่งคล้ายกับทางภาคกลาง เรียกว่า โคมเวียน โคมนี้ทำเป็นรูปทรงกระบอก ขนาดกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 70 เซนติเมตร หุ้มด้วยกระดาษสาหรือกระดาษสา หรือกระดาษว่าวสีขาวอาจทำเป็นสองชั้นเดียวกันก็ได้หากทำครอบสองชั้นแล้ว ชั้นในจะมีภาพต่างๆปิดไว้เป็นระยะๆพองาม มีสายหรือซี่โยงจากกรอบเข้าหาแกนกลางซึ่งทำเป็นตุ่มใส่ไว้ในก้นถ้วย ปิดแถบกระดาษเข้ากับสายหรือซี่นั้นโดยให้มีมุมและระยะที่ลงตัว เมื่อจุดเทียนซึ่งติดตั้งไว้กลางโคมนั้น ความร้อนจากเปลวเยนจะไปกระทบกับแถบกระดาษและจะผลักให้ส่วนที่เป็นโค้งครอบ นั้นให้ผัด คือหมุนไปเรื่อยๆ เงาของภาพที่ปิดไว้จะส่องไปกระทบกับครอบชั้นนอก สร้างความเคลื่อนไหวด้วยแสงเงาได้ระดับหนึ่ง
2.7 โคมรูปสัตว์ต่างๆ
เป็นโคมซึ่งได้พัฒนาดัดแปลงจาดความคิดของผู้ที่ประดิษฐ์จากโคมที่มีมาแต่ดั้งเดิมมาเป็นรูปสัตว์ต่างๆ

3. โคมลอย เป็นคำที่ภายหลังที่ใช้เรียกเครื่องเล่นทำด้วยกระดาษลักษณะเป็นถุงขนาดใหญ่ ใช้ลมร้อนบรรจุภายในให้ลอยขึ้นไปได้ เดิมเรียก ว่าวรม (อ่าน ว่าวฮม) หรือว่าวควันเป็นโคมที่ทำจากการต่อกระดาษว่าวเป็นโคมขนาดใหญ่เป็นทรงกลม หรือสี่เหลี่ยม ตรงปากใช้ไม้ไผ่ขดเป็นวงกลมพอให้ใช้ไม้ไผ่ขดเป็นวงกลม พอให้ใช้ไม้ที่พันผ้าและชุบน้ำมันให้เกิดควัน นำไม้จุดไฟนี้เข้าไปในวงกลมนี้ทำให้ควันอยู่ข้างใน เมื่อปล่อยควันเข้าไปจนกระทั่งโคมนั้นลอยขึ้นสู่อากาศ อาจจะมีการนำเงิน หรือเขียนหนังสือติดไปด้วย หรือส่วนใหญ่มักจะใส่ประทัดเป็นหางเมื่อจุดขึ้นไประยะหนึ่ง ก็จะเกิดเสียงดัง

คติ การปล่อยโคมนี้เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ หรือบูชาผู้ให้กำเนิดตนคือ พ่อเกิด แม่เกิด โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีจอ ต้องไหว้บูชา พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ หรือเป็นการสะเดาะเคราะห์จึงนิยมทำโคมลอย และในอีกประโยชน์หนึ่ง คือ สมัยโบราณเมื่อเกิดสงคราม ก็จะใช้โคมลอยไปยังเมื่อของข้าศึกพอดีกับธูปไหม้ลงถึงดินไฟ ก็จะระเบิดติดกระดาษโคม ทำให้ลูกไฟตกลงยังค่าย บ้านเรือนข้าศึก โคมลอยนี้จะเป็นโคมชนิดเดียวที่จะจุดล่อยในเวลากลางวัน โดยเฉพาะในตอนเช้าถึงเที่ยงเป็นส่วนมาก
ใน ปัจจุบันไม่ได้เจาะจงใช้เฉพาะงานยี่เป็ง หรือ เทศมหาชาติ แต่จะใช้เป็นพุทธบูชาได้ตลอดปี และยังใช้ในการประดับตกแต่งบ้านเรือน อาคารสำนักงาน ตลอดทั้งโรงแรมต่างๆ เพื่อให้ได้ความรู้สึกและบรรยากาศแบบล้านนา อย่างสวยงาม ซึ่งโคมนี้แม้จะรับอิทธิพลจากหลายๆประเทศแต่ในปัจจุบันที่หลงเหลืออยู่ที่ เห็นชัดก็จะมีแต่ในจังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น


           วิธีการทำโคมลอย


                เริ่มจากต้องเหลาไม้ไผ่ทำเป็นวงๆ เตรียมไว้สำหรับทำปากโคมลอย นำกระดาษสาสีขาวแผ่นบางๆ  มาทากาวต่อกันจำนวน 4 แผ่น สำหรับโคมลูกเล็กสุด นำกระดาษสี่เหลี่ยมจตุรัสแผ่นเล็กๆ  มาเชื่อมต่อตรงที่หัวของโคมลอย ส่วนตรงปลายนำวงไม้ไผ่มาติดเป็นวงกลม ทำเป็นปากโคม


นำไปตากแดดให้กาวแห้ง ถ้ายังไม่นำไปปล่อยหรือไปลอย ก็พับเก็บไว้ หากจะปล่อยต้องมีอุปกรณ์เสริม โดยนำม้วนกระดาษทิชชู่มาตัดเป็นท่อนเล็กๆ ชุบกับเทียนขี้ผึ้งและผึ่งไว้ให้แห้งสนิท  นำมาผูกติดที่ปากโคมลอย เมื่อเราจะปล่อยก็จุดไฟให้ควันเป็นตัวดันให้โคมลอยขึ้น หากต้องการความสวยงามต้องปล่อยทีละหลายๆ ลูก เท่านี้ก็จะได้เห็นโคมลอยสวยสมใจอยู่บนท้องฟ้า






ที่มา  http://khomlanna.blogspot.com/2011/01/3-1.html
            http://www.qoolive.com/show_blog/1671/us/hongyoke/t/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง คือ ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนาไทย โดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย
งานประเพณีจะมีสามวันคือ

  •                      วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ วันดา เป็นวันซื้อของเตรียมไปทำบุญที่วัด
  •                      วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน
  •                     วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ

ในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา และมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะตี๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


                ประเพณียี่เป็งเป็นงานประเพณี อันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา ที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล "ยี่เป็ง" หรือวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง อันเป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว อากาศปลอดโปร่งท้องฟ้าแจ่มใส ธรรมเนียมปฎิบัติของชาวล้านนาอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการลอยกระทงในแม่น้ำก็คือ การจุดประทีปโคมลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า โดยมีคติความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬ ามณี บนสรวงสวรรค์ หรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ หรือสะเดาะเคราะห์ ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต
"ประเพณีนี่เป็ง" คือ ประเพณีในเทศกาลวันเพ็ญ  เดือน  ๑๒ ซึ่งแต่เดิมนั้นพิธีสำคัญของเทศกาลนี้อยู่ที่พิธีกรรมตั้งธรรมหลวงหรือฟังเทศน์มหาชาติ  ชาวบ้านจะมีการประดับประดาวัดวาอารามบ้านเรือน ด้วยประทีปโคมไฟ โคมระย้า ทำอุบะดอกไม้ไปถวายวัด ทำซุ้มประตูป่าด้วยต้นกล้วย อ้อยก้านมะพร้าว เตรียมข้าวปลาอาหารเป็นพิเศษ เช่น ห่อนึ่ง แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ และขนมต่าง ๆ ไปทำบุญ บางแห่งมีพิธีกวนข้าวมธุปายาสหรือบ้างเรียก ข้าวพระเจ้าหลวง ถวายเป็นพุทธบูชาในตอนเช้ามืดของวันเพ็ญเดือน  ๑๒  นี้ด้วย จากนั้นก็จะมีการทานขันข้าวหรือสำรับอาหารไปถึงบรรพชนคนตาย ถวายอาหารและกัณฑ์เทศน์แด่พระภิกษุสงฆ์ และมีการฟังธรรมมหาชาติตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน บางแห่งก็จะมีการสืบชะตาด้วย   จะมีการปล่อยโคมลอย  เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ในช่วงพลบค่ำจะมีการเทศน์ธรรมชื่อ  "อานิสงส์ผางประทีส" และชาวบ้านจะมีการจุดประทีสหรือประทีป โคมหูกระต่าย โคมแขวน  เป็นพุทธบูชากันทุกครัวเรือนสว่างไสว หนุ่มสาวก็จะมีการเล่นบอกไฟ แข่งขันบอกไฟ และปล่อยว่าวไฟ
คำว่า โคมลอยนี้แปลได้ง่ายๆ ว่าเครื่องใช้ที่ให้กำเนิดแสงสว่างลอยตัวอยู่ ซึ่งโคมที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ อาจลอยอยู่ได้ทั้งในน้ำและในท้องฟ้าก็ได้ทั้งสองกรณี แต่ในที่นี้จะเริ่มกล่าวถึงโคมลอยที่ลอยอยู่ในน้ำหรือลอยไปตามสายน้ำเสียก่อน          

 โคมลอย นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลลอยกระทง เมื่อต้องการทราบความหมายของคำนี้ให้เป็นที่แน่นอนชัดเจนลงไป ก็ต้องไปดูจากต้นตำรับที่ว่าด้วยการลอยกระทง ซึ่งก็คือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ และจากเอกสารชื่อนี้ฉบับที่กรมศิลปากร อนุญาตให้ศิลปาบรรณาคารพิมพ์จำหน่ายครั้งที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ หน้า ๙๖ บอกว่าในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นจะมีพระราชพิธีจองเปรียง ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคมที่มีการเฉลิมฉลองกันถึงสามวัน ครั้งหนึ่ง นางนพมาศได้ประดิษฐ์โคมลอยเป็น “…รูปดอกกระมุท(ดอกบัว) บานกลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ(กงเกวียน) …“ และประดับด้วยดอกไม้และผลไม้สลักเป็นรูปนกจับอยู่ตามกลีบดอกบัว ซึ่ง พระร่วงก็พอพระทัยมาก “… จึ่งมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทบานก็ปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป… “ (น.๙๙๑๐๐)
 

จากความที่ยกมานี้สรุปได้ว่า โคมลอย ก็คือกระทงทรงประทีป หรือกระทงที่รองรับประทีปซึ่งจุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ เมื่อดูจาก พระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่สิบสาม พ.ศ. ๒๕๑๔ ในตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงระบุว่าพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมณเทียรบาลว่า พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมนั้น “… มีความแปลกออกไปนิดเดียวแต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม และเติม ลงน้ำเข้าอีกคำหนึ่ง การก็ตรงกันกับลอยกระทง ลางทีจะสมมติว่าลอยโคม …” (น.๘) และทรงกล่าวต่อไปว่า “.. การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพ และบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่า นะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่..” (น.๙)
 
ในพระราชพิธี๑๒ เดือนยังระบุต่อไปว่าในเดือนสิบสองนี้มีการลอยพระประทีปด้วย โดยทรง อธิบายว่า “… การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรนับได้ว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ..”(น.๒๒)

และความในพระราชนิพนธ์ช่วงนี้ยังมีพระราชาธิบายที่ยืนยันถึงข้อความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า “…การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้ากับเรื่องนางนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นท้าวพระสนมเอกแต่ครั้งพระเจ้าอรุณราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสอง เป็นเวลาเสด็จประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้มารับราชการจึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหลมีข้อความที่พิศดารยืดยาว เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคำขุนหลวงหาวัดซึ่งได้กล่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าหรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเอง…” (น๒๒๒๓)
 
 
จากความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์และพระราชพิธีสิบสองเดือนที่กล่าวมานี้ อาจสรุปได้ว่า โคมลอยของนางนพมาศนั้นคือกระทงที่รองรับประทีป การที่นำโคมลอยที่ว่านี้ไปลอยน้ำก็เรียกว่า ลอยโคมดังในพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกว่า ลอยพระประทีปและการลอยพระประทีปหรือลอยกระทงนี้อย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ที่น่าสังเกตก็คือพระราชาธิบายที่ว่า การลอยกระทงนี้ “… แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว…”
และเมื่อพิเคราะห์ดูความจากบทพระราชนิพนธ์ในตอนที่กล่าวถึงเทียนที่จุดในพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงกล่าวว่า “…แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียว คือตั้งแต่เริ่มพระราชพิธี พราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวันลดโคม เทียนซึ่งจุดในโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโคซึ่งพราหมณ์นำมาถวายทรงทา การที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อพระโคนี้ก็เป็นลัทธิพราหมณ์แท้ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆ พระราชพิธี …” (น.๙)
 
ส่วนขนาดของกระทงนั้น นอกเหนือจากกระทงของนางนพมาศที่ใหญ่เท่ากงระแทะคือกงเกวียน แล้ว ในพระราชพิธี ๑๒ เดือนให้คำอธิบายสรุปรวมได้ว่ากระทงหลวงซึ่งสำหรับทรงลอยที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆ ในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทงหลวงสำรับใหญ่ที่ทำถวายนั้น “…ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอก ทำประกวดประขันกันต่างๆ …(น.๒๙) ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ขนาดใหญ่ที่ลอยน้ำได้ และในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นมีการใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและเรือชัยแทนกระทงใหญ่สองลำ ตั้งเทียนขนาดใหญ่และยาวตามกระทงเรือทุกกระทง ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีการใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แทนเรือชัย และยังมีกระทงขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างอลังการอีกด้วย แต่ก็ไม่โปรดให้จัดทำทุกปี
 
ส่วนการลอยพระประทีปนั้นเห็นได้ว่ามีถึงปีละ ๒ ครั้ง โดยมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “… จะขอว่าแต่กรุงเทพฯนี้ การลอยประทีปเดือน ๑๒ เป็นการใหญ่กว่าลอยประทีปในเดือน ๑๑ ด้วยอากาศปราศจากฝน…”(น.๒๔) และ “… พิธีลอยพระประทีปกลางเดือน ๑๑ ก็เหมือนกับลอยพระประทีปในเดือน ๑๒ ซึ่งมีข้อความพิศดารแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์พิธีประจำเดือน ๑๒ ผิดกันแต่เดือน ๑๑ ไม่มีกระทงใหญ่…” (น.๖๓๙) น่าสังเกตว่าในพระราชพิธี ๑๒ เดือน นี้ ทรงจำแนกว่าประทีปและกระทงเป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับทรงลอยที่ต่างกัน โดยที่กระทงที่ทรงกล่าวถึงนั้นมีขนาดใหญ่มาก แต่เสียดายที่ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าวไม่ได้บอกขนาดของพระประทีปที่ทรงลอยไว้ด้วย คาดว่าพระประทีปที่ทรงลอยน่าจะมิได้มีขนาดใหญ่โตเหมือนกระทง แต่อาจจะมีขนาดใกล้เคียงกับกระทงของนางนพมาศก็ได้
 
เมื่อยกเอาความทุกส่วนที่กล่าวแล้วมารวมกันเพื่อสรุป ก็จะเห็นได้ว่า การลอยโคมหรือลอยกระทงซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วนี้ เป็นประเพณีที่มิใช่ทั้งพิธีพราหมณ์หรือพิธีในพุทธศาสนา แต่การลอยกระทงซึ่งเป็นการลอยโคมอันเป็นเครื่องสักการะเพื่อให้ไปบูชารอยพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ที่ริมฝั่งน้ำนมทานทีดังกล่าว เป็นคติที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้เอง แต่ความที่ยังคงค้างใจก็คือประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปว่าโคมลอยหมายถึงประทีปที่จุดไฟแล้ววางบนกระทงและปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีโคมลอยที่มีลักษณะเป็นลูกโป่งขนาดใหญ่ทำด้วยกระดาษบางเบาที่ปล่อยให้ลอยไปบนฟากฟ้านั้น คืออะไรกันแน่


คำอธิบายที่เก่าที่สุดที่กล่าวถึง โคมลอยในแง่โคมที่ลอยฟ้านั้น พบใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ Dictionary of the Siamese Language by Dr.B.Bradley Bangkok 1873 หรือพจนานุกรมภาษาสยามที่ ดร.แดน บีช แบรดเลย์ จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ โดยกล่าวว่า โคม, คือประทีปเครื่องสำหรับจุดไฟในนั้นให้แสงสว่าง,ทำด้วยแก้วบ้าง, ทำด้วยเกล็ดปลาบ้าง.และ โคมลอย, คือประทีปเครื่องสำหรับจุดไฟในนั้นให้สว่าง, แล้วควันไฟก็กลุ้มอบอยู่ในนั้น, ภาโคมให้ลอยขึ้นไปได้,บนอากาษ.”(น.๑๐๕) คำอธิบายดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ว่า โคมลอย น. ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดไฟแล้วปล่อยให้ ลอยไปในอากาศ.และพจนานุกรมฉบับนี้ได้ให้ความหมายของเครื่องใช้อีกอย่างหนึ่งว่า ตะเกียง น. เครื่องใช้สำหรับตามไฟ มีรูปต่างๆ บางชนิดมีหลอดบังลม, ลักษณะนามว่า ดวงโดยคำอธิบายของพจนานุกรมทั้งสองฉบับนี้ ชวนให้เข้าใจว่า โคมลอยควรจะให้ความสว่างได้ด้วย



ส่วนในพระราชพิธี ๑๒ เดือนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๓๑ นั้น มีข้อความส่วนที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายศัพท์แผลงว่าโคมลอยมีความหมายเดียวกับ โพยมยานและโพยมยานแปลมาจาก air ship คือยานที่ลอยไปในอากาศได้โดยใช้อากาศร้อนหรือแก๊สที่เบากว่าอากาศยกเอายานนั้นลอยไปได้ แต่เมื่อเทียบกับคำแปลของหมอแบรดเลย์แล้ว โพยมยานในที่นี้น่าจะหมายถึง balloon มากกว่า ยิ่งในคำอธิบายในหน้า ๖๔๓ ที่ว่า โคมลอยในที่นี้ “…มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษที่ชื่อว่า ฟัน (Fun-ผู้เขียน) ที่ใช้รูปโคมลอยอยู่หลังใบปก หนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ตลกอย่างอื่น คือ ปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขัน จึงว่าราวกับหนังสือพิมพ์ฟัน บ้างว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้างจะพูดให้สั้นจึงคงไว้แต่โคม”…” จากประเด็นดังกล่าวนี้ โคมลอยตามนัยของพระราชพิธี ๑๒ เดือน กับนัยของหนังสืออักขราภิธานศรัพท์แม้จะดูเหมือนว่าไม่ตรงกัน แต่ก็พอจะอธิบายให้เห็นได้ว่าเป็นวัตถุทรงกลมที่อาศัยความร้อนที่กักไว้ภายในพยุงให้ลอยไปในอากาศได้
 ก็เป็นอันว่า โคมลอยของนางนพมาศนั้นลอยน้ำ แต่โคมลอยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และของหมอแบรดเลย์นั้น ลอยฟ้า พอบอกว่า โคมลอยนั้นลอยฟ้าได้ ชาวล้านนาก็บอกว่าแม่นแล้วเพราะในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นนอกเหนือจะมีการตั้งธัมม์หลวงแล้ว บุคคลที่เกิดในปีจอ ซึ่งควรจะไปนมัสการพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีซึ่งบรรจุมวยผมของเจ้าชายสิทธัตถะที่เชือดออกด้วยพระขรรค์แล้วดำรงเพศนักบวชก่อนจะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า แม้อยากไปก็ไปไม่ได้ เพราะพระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชาวล้านนาที่เกิดในปีจอก็อาศัย โคมลอยนี้แหละที่ยกเอากระบะเครื่องบูชาลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าไปให้สูงที่สุดเพื่อจะบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ กิจกรรมดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพระบรมราชาธิบายที่ว่า “…การยกโคมขึ้นนั้น ตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าทรงบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพและบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายที่เรียกว่านะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่…”(พระราชพิธี ๑๒ เดือน น.๙)
 
แต่พอพูดว่าสิ่งประดิษฐ์ที่พาเอากระบะเครื่องบูชาขึ้นฟ้าไปนั้นชื่อว่าโคมลอยบรรดาผู้  เฒ่าทั้งหลายก็ไม่ค่อยพอใจนัก เพราะสิ่งนั้นในยุคของท่านเรียกว่า ว่าว, ว่าวลม, ว่าวรม/ฮม หรือว่าวฅวัน โดยอธิบายว่าเครื่องเล่นที่ปล่อยให้ลอยในอากาศนั้นเรียกว่า ว่าวเมื่อว่าวนั้นใช้ควันเป็นเครื่องช่วยพยุงขึ้นฟ้า ก็เรียกว่าวนั้นว่า ว่าวฅวัน และในกลางคืนที่ใช้ก้อนเชื้อเพลิงแขวนไว้ที่ปากของว่าว ความร้อนจากไฟที่จุดนั้น นอกจากจะยกว่าวให้ลอยฟ้าได้แล้ว ยังมองเห็นไฟที่ลุกและลอยไปในท้องฟ้าแทรกกับกลุ่มดาวได้ ท่านเรียกของท่านว่า ว่าวไฟ พอเห็นเด็กน้อยหนุ่มสาวเรียกสิ่งประดิษฐ์ของท่านว่า โคมลอยท่านก็บอกว่าไม่ใช่ ครั้นถามผู้เฒ่าว่าชาวล้านนาเรียกว่าวของท่านว่าเป็นโคมลอยมาแต่เมื่อใด ท่านก็ตอบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารไทยมาประจำการในล้านนา พอเห็นว่าวฅวันลอยขึ้นฟ้า ก็เรียกว่าสิ่งนั้นคือ โคมลอยเมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจสรุปได้ว่า โคมลอยของภาคกลางนั้นทำได้ทั้งลอยฟ้าและลอยน้ำ โดยจุดประทีปโคมไฟให้ลอยไปตามน้ำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทในนาคพิภพ และยกโคมขึ้นให้สูงเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี
 
แล้วชาวล้านนาเล่า มีการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำเพื่อไปบูชาพระพุทธบาทหรือไม่ ผู้เฒ่าก็จะถามว่าลอยประทีปโคมไฟเมื่อใด พอบอกว่าวันเพ็ญเดือนยี่ ท่านก็บอกว่าในวันเพ็ญเดือนยี่นั้นชาวบ้านจะปล่อยว่าวฅวันขึ้นฟ้าในตอนสาย และจุดประทีปโคมไฟตามบ้านเรือนดังที่ปรากฏว่ามีคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีปบอกถึงผลที่ผู้กระทำจะได้รับจากกการจุดประทีปโคมไฟดังกล่าว และการจุดประทีปโคมไฟนี้ก็สอดคล้องกับการ เผาเทียนเล่นไฟในกรุงสุโขทัยอีกด้วย ไม่มีธรรมเนียมการลอยกระทงหรือการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำ และผู้เฒ่าจะสำทับว่าพิธีกรรมทั้งหลายของชาวล้านนานั้นจะหันหน้าเข้าวัด ถ้าหันหน้าออกจากวัดไปทำกิจกรรมยังที่อื่นแล้ว พิธีกรรมดังกล่าว นั้นไม่ใปรากฏในวิถีของล้านนา



ครั้นถามว่าแล้ว ลอยกระทงเริ่มมาแต่เมื่อใด ท่านผู้เฒ่าที่คุ้นเคยกับชีวิตในคุ้มในวัง โดยเฉพาะวังท่าเจดีย์กิ่วซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีนั้น เป็นวังที่อยู่ใกล้กับลำน้ำปิง(ปัจจุบันคือสถานกงสุลอเมริกัน) พระราชชายาพระองค์นี้เป็นพระราชชายาซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าพระมเหสีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โดยที่พระองค์ท่านเข้ารับราชการในพระบรมมหาราชวังเมื่อชนมายุ ๑๓ ชันษา (พ.ศ.๒๔๒๙)และประทับอยู่ในวังหลวง หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ แล้วพระราชชายาฯก็เสด็จมาประทับอยู่ใน ฅุ้มหรือวังท่าเจดีย์กิ่วดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมโดยเฉพาะพระราชพิธีต่างๆ เป็นอย่างดี ดังนั้นพระองค์ท่านจึงได้เริ่มการ ลอยพระประทีปในลำน้ำปิง ในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐๒๔๗๐ แต่พระประทีปนอกวังหลวงนี้ทำขึ้นอย่างง่ายๆ จากวัสดุในธรรมชาติ

คือพระองค์ท่านใช้ชิ้นกาบมะพร้าวกว้างขนาดฝ่ามือตัดโค้งงอนตามสัณฐานของมะพร้าวเพื่อทำหน้าที่เป็นกระทงวางประทีปลงบนกระทงนั้นแล้วจุดไฟและปล่อยให้ลอยไปในคืนวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา (ตรงกับเพ็ญเดือน ๑๒ ของภาคกลาง) สิ่งที่ลอยไปตามสายน้ำนั้นจึงจัดได้ว่าเป็นการลอยพระประทีปอย่างง่ายๆ อันจำลองมาจากการลอยพระประทีปและกิจกรรมนี้ก็สอดคล้องกับลอยโคมหรือ ลอยกระทงทรงประทีปของนางนพมาศอีกด้วย
 
ภายหลังก็มีผู้นิยมลอยกระทงตามพระราชชายาฯ มากขึ้น ดังพบว่าในครั้งที่นายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ.๒๔๙๐ นั้น ก็ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยจัดให้มีการลอยกระทงมากขึ้น และมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพ โดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน การลอยกระทงแบบกรุงเทพฯนั้นมีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ โดยเริ่มจัดให้มีการลอยกระทงสองวัน คือในวันเพ็ญเดือนยี่ จะลอยกระทงเล็ก และรุ่งขึ้นในคืนแรมหนึ่งค่ำจะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปสิ้นสุดที่สะพานนวรัฐ และหลังจากนั้นก็มีการลอยกระทงกันอย่างกว้างขวาง ดังที่จะพบว่ามีการประกวดนางนพมาศกันทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ยังมีการทำ ประตูป่าอันเนื่องกับการ ตั้งธัมม์หลวงอยู่เหมือนกัน แต่ยิ่งมีแสงสีที่กระทงกับประตูป่าและประทีปโคมไฟที่ประดับตามบ้านเรือนถนนหนทาง มีความงามที่ทรงเสน่ห์ของสาวน้อยนางนพมาศมากขึ้น และมีแสงสีจากว่าวไฟที่ลอยฟ้าเจิดจรัสมากขึ้นเท่าใด ความเข้มของวัฒนธรรมใหม่นี้ย่อมมีส่วนขับให้บรรยากาศของการตั้งธัมม์หลวงและกิจกรรมตามวิถีของล้านนาดั้งเดิมให้โรยแรงลงเพียงนั้น






ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%87
http://www.moohin.com/trips/chiangmai/yeepang/
http://www.youtube.com/watch?v=kBK0dBXxW7Q&feature=player_embedded